“สายฝอควรรู้”
ทุกวันนี้ นอกจากคนเราจะพบรักกันโดยพรหมลิขิตแล้ว หลายคนก็สร้างโอกาสขึ้นมาเอง โดยไม่รอพรหมลิขิต โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ มีแอปหาคู่ให้เลือกคู่ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ หลายแอป ไม่ว่าจะเป็น แอปomi แอปTinder Gold แอปFacebook Dating โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่เลือกชายต่างชาติ มาลองคบหาดูใจ จนมั่นใจให้เป็นพ่อของลูกได้ แต่เมื่อเด็กคลอดมาแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ชายต่างชาติคนนั้น ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับคุณ ไม่ยอมจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร วันนี้ทนายเสนอวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวต่างชาติขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายครับ
การฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ
เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ขั้นตอนที่ 1
– กรณีฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวไทย เรามาดูว่ากรณีของคุณตรงกับกรณีใดบ้าง ที่กฎหมายสันนิษฐานว่า “เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย” กรณีนี้ตาม ปพพ.มาตรา 1555 บัญญัติว่า ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
1.2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
1.3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
1.4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
1.5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
1.6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
1.7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตน……”
– กรณีฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวต่างชาติ ผู้ฟ้องมีหน้าที่จะต้องแปลกฎหมายสัญชาติของสามี(จำเลย) ในเรื่องฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายก่อน และพิจารณาว่า เหตุของคุณเข้าตามกรณีที่กฎหมายสัญชาติของสามีกำหนดให้ฟ้องคดีได้หรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อคุณพิจารณาว่ากรณีของคุณเข้าตามกรณีที่กฎหมายไทย หรือกฎหมายสัญชาติของสามีต่างชาติกำหนดไว้ข้อใดข้อหนึ่ง ในขั้นตอนที่ 1 แล้ว ก็มาดูต่อว่า ใครที่สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้บ้าง ขั้นตอนนี้ไม่ว่าจะฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
2.1) กรณีเด็กมีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน(แม่เด็กเป็นหนึ่งในผู้แทนโดยชอบธรรม) ตามตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2545 (กรณีแม่เด็กฟ้อง)
เด็กหญิง อ. เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับจำเลย แม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กหญิง อ. ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาตามปพพ.มาตรา 1546 แม้เด็กหญิง อ. จะอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ น. กับ ป. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 หรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว น. กับ ป. จะไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. เป็นบุตรบุญธรรมก็ตามก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเด็กหญิง อ. โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมในการนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง อ. เป็นบุตรตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ เพราะการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้ระบุให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทนผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจกระทำในนามส่วนตัวได้ แต่กระทำการในฐานะผู้ฟ้องแทนได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง
2.2) กรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้
2.3) กรณีเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องคดีเอง
ขั้นตอนที่ 3 ระยะเวลาและอายุความในการฟ้องคดี ขั้นตอนนี้ไม่ว่าจะฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ใช่หลักเกณฑ์เดียวกัน
3.1) กรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ
3.2) กรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร
3.2.1) ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย
3.2.2) ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว
3.2.3) ต้องฟ้องคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย
ขั้นตอนที่ 4 แปลกฎหมายต่างประเทศ กรณีฟ้องบิดาของเด็กที่เป็นชาวต่างชาติ
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างโจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอื่น ที่ศาลในประเทศไทยนั้น มีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศอันตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 29 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตาย และมาตรา 34 สิทธิที่จะฟ้องบุพการีเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้สืบสันดาน ดังนั้นเบื้องต้นเราจะต้องแปลกฎหมายสัญชาติของสามี(จำเลย)ก่อน เพื่อพิจารณาว่า เหตุของคุณเข้าตามกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ ส่วนเรื่องสิทธิที่เด็กจะฟ้องบุพการีพิจารณาตามกฎหมายไทยได้เลย
ระยะเวลานับแต่วันฟ้องคดี จนศาลมีคำพิพากษา ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน และกรณีที่บิดาของเด็กที่เป็นชาวต่างชาติ(จำเลย) ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยหรือประกอบกิจการในประเทศไทยด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน หรือแต่งตั้งตัวแทนไว้ คุณ(โจทก์)จะต้องส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในประเทศนั้นๆ ระยะเวลาในการพิจารณาคดีของศาล จึงต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 เดือน
ค่าทนายความในศาลชั้นต้น เริ่มต้นที่ 35,000 บาท