ในเรื่องความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. นั้น จะมีมาตราที่บัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นว่าการกระทำไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งผู้ที่ถูกฟ้องสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้พ้นผิดได้ คือ
ป.อ. มาตรา 329 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุมเป็นต้น ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
และ ป.อ. มาตรา 331 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
ดังนั้นหากผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำไปตามมาตราดังกล่าว ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมีแนวที่มีการฟ้องร้องคดีกันและศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังต่อไปนี้
ฎีกาที่ 4563/2544
โจทก์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยได้พูดผ่านเครื่องกระจายเสียงว่าโจทก์เป็นคนขี้โกงเอาที่สาธารณประโยชน์เป็นของตนเองเพื่อให้ประชาชนต่อต้านการกระทำที่จำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะการที่โจทก์เสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกตน เป็นการแสดงว่าตนเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตไว้วางใจให้เข้าไป มีส่วนร่วมบริหารกิจการแทนประชาชนได้ และการเรียกร้องเอาที่สาธารณประโยชน์คืนก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและจำเลยเองด้วย จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วย ความเป็นธรรมซึ่งการกระทำดังกล่าวอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ขณะจำเลยกล่าว ถ้อยคำดังกล่าว โจทก์ยังไม่ถูกดำเนินคดีอาญา หากจำเลยเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจมิได้มีเจตนากลั่น แกล้งใส่ร้ายโจทก์และมีมูลอันควรเชื่อก็เป็นการกระทำโดยสุจริตแล้ว จำเลยไม่มีความผิด
ฎีกาที่ 3269 / 2533
จำเลยเป็นข้าราชการประจำสำนักงานที่ดิน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้หนึ่ง จึงชอบที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของตนได้ การที่จำเลยแจ้งเรื่องที่ทราบมาว่าผู้เสียหายเรียกร้องเอาเงินจากผู้มาติดต่อราชการให้ ศ.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งของตนและผู้เสียหายทราบเพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความที่ถูกกล่าวหาโดยสุจริตด้วยความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1)
ฎีกาที่ 4815/2546
โจทก์มีความสัมพันธ์กับ อ. เกินกว่าปกติธรรมดาส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. ในฐานะสามีภริยาต้องเลิกแล้วต่อกันเพราะการกระทำของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงผู้บังคับบัญชาของโจทก์เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยแก่โจทก์จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งความประพฤติอันไม่สมควรปฏิบัติของโจทก์ อันเป็นวิสัยที่จำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ตาม ป.อาญา มาตรา 329(3) จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ฎีกาที่ 6483/2531
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งจำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้โจทก์เข้าใจข้อหาได้ชัดเจนนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ.มาตรา 331
ฎีกาที่ 2212/2536
จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนโจทก์ออกจากเป็นผู้อนุบาลของ จ.ผู้ไร้ความสามารถและตั้งจำเลยเป็นผู้อนุบาลแทน โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์เล่นการพนัน ไม่เหมาะที่จะเป็นผู้อนุบาลของ จ. คดีดังกล่าวจึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือจำเลยควรเป็นผู้อนุบาลของ จ. ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความว่า บ้านของโจทก์ตั้งเป็นบ่อนการพนันก็เพื่อสนับสนุนคดีของจำเลยว่าโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อนุบาล ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 331
เครดิต คำพิพากษาฎีกาทั้งหมดมาจากหนังสือกฎหมายอาญาพิสดาร เล่ม 2
Cr. ทนายนริศ
ติดต่อ 02 922 9288, 081 928 2389