ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถอย่างไร ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง

          วันนี้ผมมีเรื่องเช่าซื้อรถ และผ่อนไม่ไหวหรือยังผ่อนไหวแต่ต้องการคืนรถหรือเลิกสัญญาเช่าซื้อและคืนรถที่ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างมาเสนอ   ค่าส่วนต่าง คือ เงินที่ขาดเมื่อผู้ให้เช่าซื้อเอารถคืนแล้ว ขายได้ราคาไม่พอค่าเช่าซื้อที่ทำสัญญาไว้  เช่นทำสัญญาเช่าซื้อกับท่านไว้ที่ราคา   500,000 บาท  ผ่อนชำระงวดละ  10,000 บาท จำนวน 50 งวด ท่านผ่อนได้  10 งวด แล้วผ่อนต่อไม่ไหวอยากคืนรถ  ท่านค้างชำระงวดที่   11,   12  หรือไม่ค้างแต่ต้องการคืนรถ  ก็สามารถขอส่งมอบรถคืนเลย  นำรถไปส่งโดยท่านต้องชำระส่วนที่ค้างค่าเช่าซื้ออีก  2 งวดให้ครบด้วย  เท่ากับว่าผู้ให้เช่าซื้อได้เงินไป 100,000 +20,000 บาท  ขาดค่าเช่าซื้ออีกจำนวน  380,000 บาท  รับรถกลับคืนไป  และให้ตัวแทนผู้ให้เช่าซื้อลงชื่อรับรถแบบนี้ก็จบเรื่องกันครับ ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทั้งสองฝ่ายไม่มีหนี้ต่อกันอีก

          แต่ปัญหามันไม่จบเป็นเช่นนั้นซิครั้บ  ผู้ให้เช่าซื้อเขาจะให้ท่านลงชื่อในเอกสารรับรถว่าหากนำรถออกขายได้ราคาไม่คุ้มค่าเช่าซื้อที่ขาดเท่าใดให้ท่านรับผิดค่าส่วนต่างด้วย เช่นตัวอย่างข้างต้นนั้นค่าเช่าซื้อขาดอีกจำนวน 380,000 บาท เอารถไปขายได้ราคา  180,000 บาท เขาจะให้ท่านรับผิดเงินที่ขาดอีกจำนวน  200,000 บาทแบบนี้ครับ

          ที่ร้ายกว่านั้นบางกรณีรถควรจะขายได้  180,000 บาทแต่ถูกขายไป 80,000 บาท  แล้วขอให้ท่านรับผิดที่ขาดอีก 300,000 บาท อย่างนี้ก็มี  ผู้ประมูลซื้อไปราคาต่ำๆแล้วเอาไปขายต่อมีกำไรมากซิครับแต่ภาระตกแก่ท่านทั้งสองกรณีเลย

          ดังนั้นถ้าท่านปฎิบัติถูกต้องนำรถไปคืนชำระหนี้ที่ค้างก่อนคืนรถครบถ้วนถือว่าสัญญาเลิกกันไม่มีหนี้ต่อกันอีก  แม้ท่านจะได้ลงชื่อรับผิดส่วนต่างแล้วก็ไม่เป็นไร  มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนยันแล้วว่า  “สัญญาว่าให้รับผิดส่วนต่างนั้น  บังคับไม่ได้ท่านไม่ต้องรับผิดในส่วนต่างนั้นอีก  ศาลให้เหตุผลว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายสมัครเลิกสัญญาต่อกับแล้วไม่มีหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่จะบังคับต่อกันอีก แม้มีการทำสัญญารับผิดขึ้นมาใหม่ก็ตามแต่ถือว่าเมื่อไม่มีหนี้ต่อกันอีกสัญญาที่ทำขึ้นใหม่ไม่มีมูลหนี้ต่อกับไม่อาจฟ้องร้องท่านได้อีก ทนายความให้ต่อสู้คดีให้ได้เลย อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่   1203/2565

    ขณะจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโจทก์ และโจทก์รับคืนไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาข้อใดหรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 เพราะการแสดงเจตนาคืนรถที่จะถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ที่ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆเสียก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์…และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที… ต้องปรากฏว่าจำเลยยังคงมีหนี้หรือเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขณะที่ส่งมอบรถคืนโจทก์เมื่อจำเลยไม่มีเงินหรือหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ตาม ปพพ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 573 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญาจากจำเลย

    แม้จำเลยตกลงรับผิดในบรรดาหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 ตามหนังสือแสดงเจตนาคืนรถของจำเลยก็ตาม แต่หนังสือแสดงเจตนาคืนรถมิใช่สัญญาเช่าซื้อ เป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนและจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรับรองต่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่า หากโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่พอชำระหนี้คงค้างตามสัญญา จำเลยจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์นั้นไม่ เพราะเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มีเนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้

         และมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นคุณแก่ผู้เช่าซื้อมากกว่าเดิมอีกครับดังนี้

          # แม้จะไม่ได้ชำระหนี้สิ้นทั้งปวงซึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 14 แต่การที่โจทก์ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โดยไม่โต้แย้งคัดค้านและเพิ่งมีหนังสือ แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถคืนภายในกำหนด 7 วัน พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 จากจำเลยที่ 1 ได้อีก #

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่   3252/2565

          สัญญาเช่าซื้อข้อ 14 กำหนดเงื่อนไขการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อว่า “ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถยนต์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาอยู่ในเวลานั้นทันที”  แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้องวดที่ 5 ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2558 จากนั้นวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์โดยไม่ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระแล้วในเวลานั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตาม 14 แต่การที่โจทก์ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 โดยไม่โต้แย้งคัดค้านและเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถคืนภายในกำหนด 7 วัน พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 จากจำเลยที่ 1 ได้อีก แม้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องส่งมอบรถยนต์คืนว่า “จำเลยที่ 1 ขอส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์โดยยินยอมรับผิดต่างๆที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อจนเต็มจำนวน ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์สงวนสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 13 ..

          สรุปโจทก์ฟ้องเรียกไม่ได้อีกครับ  

#ทค. ผดุง

โทรหาเรา