หย่าแล้วก็ยังอาจถูกยึดทรัพย์ หากทรัพย์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองคน

คำพิพากษาฎีกาที่ 9033 / 2542

  • ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภรรยากัน และร่วมกันประกอบกิจการค้าขาย
  • ต่อมาผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงอยู่กินเป็นสามีภรรยาและประกอบกิจการค้าร่วมกัน
  • ระหว่างนั้นผู้ร้องขอได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท
  • ผู้ร้องกับจำเลยและบุตร เข้าอยู่ในตึกแถวพิพาท
  • โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระเงินตามเช็ค 3 ฉบับ เป็นเงินรวม 260,000 บาท ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์
  • จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์
  • ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้หย่าขาดจากจำเลยแล้วมาซื้อที่ดินพิพาทด้วยเงินของผู้ร้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึด ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
  • โจทก์ให้การว่า โจทก์ไม่ทราบว่าผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกันตั้งแต่ปี 2524 แต่เห็น ผู้ร้องกับจำเลยยังคงอยู่กินด้วยกันมาตลอดจนมีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ร้องกับจำเลยทำมาค้าขายร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนการจดทะเบียนหย่ามีเจตนาเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมของผู้ร้องกับจำเลย เพราะผู้ร้องกับจำเลยนำเงินที่รับจากโจทก์ไปซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทและนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปเป็นทุนค้าขาย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นของผู้ร้องและจำเลยร่วมกันขอให้ยกคำร้องขอ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้องขอ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึด
  • โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว แม้ทรัพย์สินที่พิพาทจะได้มาหลังหย่าแล้วก็ตาม ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์รวม ของผู้ร้องกับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิ์ที่จะยึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์ สินพิพาท พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง

<ทค.ผ, ทค. ว.>

โทรหาเรา